ปัญหาที่อาจเกิดกับงานพิมพ์

articles

งานพิมพ์มีรายละเอียดและข้อควรระวังมาก หากปราศจากความเข้าใจที่ดีแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาต่างๆ และทำให้คุณลูกค้าได้รับงานที่คลาดเคลื่อนไปจากที่คาดหวังได้ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดที่ไม่พึงประสงค์ขึ้น วันนี้ PIM123 จะมาอธิบายว่าข้อผิดพลาดเหล่านั้นมีอะไรบ้าง และจะมีวิธีป้องกันอย่างไรค่ะ

 

1. สีของงานพิมพ์ซ้ำอาจต่างจากสีของงานพิมพ์ครั้งแรก

001

งานที่พิมพ์คนละครั้งอาจมีสีต่างกันได้ เกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ไฟล์งานเป็นไฟล์ใหม่ ไม่ใช่ไฟล์เดิม หรือเป็นไฟล์เดิม แต่เซฟใหม่เป็นนามสกุลอื่น หากไฟล์งานเปลี่ยน คุณภาพของงานก็เปลี่ยนไปด้วย ถ้าต้องการให้สีงานพิมพ์ออกมาเหมือนเดิม ควรใช้ไฟล์เดิมที่ส่งพิมพ์ครั้งแรก  อีกกรณีหนึ่งคือ โรงพิมพ์ผสมสีเพี้ยนไปจากของเดิม ซึ่งแก้ปัญหาได้ด้วยการนำงานพิมพ์ครั้งแรกมาให้ร้านเทียบสี จะทำให้ได้งานพิมพ์ที่มีสีไม่เพี้ยนไปจากครั้งแรก

2.Spot ไม่ตรง

002

ตำแหน่งของ Spot UV มีโอกาสคลาดเคลื่อนประมาณ 0.06 มิลลิเมตร แต่หากมองในระยะปกติก็จะไม่สังเกตเห็นความคลาดเคลื่อน

 

3.งานเคลือบสีแบบ PVC ด้าน อาจทำให้สีดรอปลง

003

การเคลือบสีจะทำให้สีของงานเปลี่ยนไป จากภาพตัวอย่าง เป็นภาพนามบัตรที่เปรียบเทียบการเคลือบสีแบบ PVC ด้านและไม่เคลือบ ด้านซ้ายผ่านการเคลือบ PVC ด้าน ทำให้สีดรอปลงจากด้านขวาที่ไม่ได้เคลือบ  แต่การเคลือบ PVC ด้านมีข้อดีคือ ช่วยยืดอายุงานพิมพ์ให้ยาวนานและคงทน พื้นผิวงานเนียนเรียบสวย และเพิ่มมูลค่าของงานให้สูงขึ้น

 

4.ขอบงานไม่เท่ากัน

004

การตัดขอบมีระยะคลาดเคลื่อน 1-2 มิลลิเมตร อาจทำให้งานออกแบบที่มีกรอบสีออกมาคลาดเคลื่อนไปเล็กน้อย จึงควรออกแบบกรอบให้มีขนาดใหญ่กว่า 3 มิลลิเมตร เพื่อให้แม้จะตัดขอบคลาดเคลื่อน ก็ไม่สังเกตเห็นหรือสังเกตเห็นยาก

 

5. สีเลอะขอบ

005

จากภาพจะสังเกตเห็นได้ว่า ส่วนที่ตัดหรือเจาะเปื้อนสีจากอีกด้านหนึ่ง เกิดจากสีติดมีดตัดกระดาษมาเลอะขอบ วิธีป้องกันคือ ใช้สีเหมือนกันทั้งสองด้าน หรือไม่ออกแบบงานให้มีสีติดขอบ  นอกจากนี้ การเคลือบสีก็ยังช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา และยังช่วยเพิ่มมูลค่างานพิมพ์ได้ด้วย

 

6. การเคลือบสีไม่เหมาะกับงานบางชนิด

006

หากลูกค้าต้องการพิมพ์บัตรสะสมแต้มหรือบัตรสมาชิกที่ต้องเขียนหรือประทับตราบนบัตร ไม่ควรสั่งเคลือบสี เพราะจะทำให้พื้นผิวมันขึ้น ทำให้เขียนด้วยปากกาลูกลื่นไม่ได้หรือประทับตราด้วยหมึกไม่ติด

 

7.ค่าสีดำ 90 (K 90) ทำให้เป็นคลื่น

007

งานออกแบบที่ใช้สีดำ กรุณาตรวจสอบค่าสี CMYK ว่าค่าสีดำ (K) เป็น 100 หรือไม่ หากค่าสีดำ (K) อยู่ที่ 90 แสดงว่ามีสีอื่นเจือปนอยู่ในสีดำ และเมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว งานพิมพ์จะมีลักษณะเป็นคลื่น/สีดำไม่สม่ำเสมอ/สีดำดูด่างๆ  และจากภาพตัวอย่าง นอกจากพื้นสีดำแสดงสีไม่สม่ำเสมอแล้ว ยังสังเกตเห็นด้วยว่าตัววัวมีสีเหลืองปนอยู่ เพราะค่าสีดำมีสีเหลืองปน

 

8.ดำโอเวอร์ปรินต์

008

ดำโอเวอร์ปรินต์ คือ การวางเลเยอร์สีดำ (K) 100 วางทับบนเลเยอร์สีอื่น ทำให้เมื่อพิมพ์ออกมาแล้ว สีจากเลเยอร์ด้านล่างอาจทะลุขึ้นมาบนสีดำ  จากภาพตัวอย่างจะเห็นได้ว่าในพื้นที่สีดำมีสีอื่นเจือปนอยู่ด้วย แก้ไขได้โดยการปิดฟังก์ชั่นโอเวอร์ปรินต์ในไฟล์งาน หรือไม่วางเลเยอร์สีอื่นไว้ใต้เลเยอร์สีดำ

 

9.ลายเส้นไม่ขึ้น


จากภาพตัวอย่าง ด้านซ้ายเป็นภาพหน้าจอคอมพิวเตอร์ และด้านขวาเป็นงานพิมพ์ จะเห็นได้ว่าลายเส้นที่ปรากฏบนหน้าจอนั้นไม่ปรากฏบนงานพิมพ์ เกิดจากลายเส้นที่ออกแบบมีขนาดเล็กหรือเส้นบางเกินไป  หากงานออกแบบของลูกค้ามีลักษณะเป็นลายเส้น ทางร้านแนะนำให้ลองปรินต์ทดสอบก่อน หากพบว่าลายเส้นนั้นมีขนาดเล็กเกินไปจนไม่ปรากฏบนงานพิมพ์ ก็ควรออกแบบให้มีขนาดใหญ่ขึ้น

 

10.พับโบรชัวร์แล้วเป็นรอยแตก

ทางร้านมีกระดาษให้เลือกหลากหลาย ซึ่งงานพิมพ์แต่ละชนิดก็ต้องเลือกกระดาษที่เหมาะสม งานพิมพ์ที่ต้องพับ เช่น แผ่นพับ โบรชัวร์ ไม่เหมาะกับกระดาษที่หนาเกินไป เพราะเมื่อพับแล้วจะเป็นรอยแตก และหากโบรชัวร์มีหลายหน้า ก็ไม่ควรเข้าเล่มแบบเย็บมุงหลังคา เพราะจะทำให้พับแล้วกระดาษแตกเช่นกัน  นอกจากนี้ การเคลือบสีก็ช่วยแก้ปัญหากระดาษแตกตามรอยพับได้

 

เห็นไหมคะว่างานพิมพ์มีรายละเอียดและข้อควรระวังมากจริงๆ แต่ทุกปัญหาสามารถป้องกันได้ตามที่ PIM123 แนะนำไว้ข้างต้น หากคุณลูกค้าสละเวลาตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ เพิ่มอีกสักนิด ก็จะช่วยให้งานพิมพ์ออกมามีคุณภาพ มีความสวยงามตามอย่างที่คาดหวังไว้ และยังพิมพ์เสร็จพร้อมส่งตรงเวลาด้วยค่ะ