พระนามบัตร ในหลวงร.9 กับพลังของสัญลักษณ์และอำนาจของสี

articles

นามบัตร นับเป็นหลักฐานในการแสดงตัวตนและแสดงให้เห็นถึงหน้าที่ความรับผิดชอบของเราในองค์กรต่างๆ ซึ่งมีการใช้กันเป็นสากล แต่ใครจะรู้ว่า แม้แต่พระมหากษัตริย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นประมุขของประเทศ ก็ยังมีพระนามบัตรเป็นของพระองค์เอง โดยกษัตริย์ที่เรากำลังพูดถึงอยู่นี้ ก็คือ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หรือในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเรานั่นเอง มาดูกันว่า พระนามบัตรของกษัตริย์จะมีความพิเศษอย่างไรบ้าง

พระนามบัตรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้รับการออกแบบโดยคุณฮิโรมิ อินาโยชิ นักออกแบบชาวญี่ปุ่น ซึ่งมีผลงานโดดเด่นในเรื่องการใช้สัญลักษณ์และสี ทั้งยังมีชื่อเสียงอย่างมากในประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา โดยจุดเริ่มต้นของการได้ถวายงานเริ่มมาจากการที่ผลงานของคุณฮิโรมิ อินาโยชิ ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่ในสำนักพระราชวัง จนได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสครบรอบ 75 พรรษา ซึ่งพระนามบัตรของพระองค์จะมีรูปแบบแตกต่างจากนามบัตรของสามัญชนทั่วไป เพราะเป็นการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อความหมาย และไม่จำเป็นต้องเน้นชื่อ ไม่ต้องใส่ที่อยู่หรือแม้แต่เบอร์โทรศัพท์ ต่างจากนามบัตรของคนธรรมดา ที่จะใช้ตัวอักษรสื่อความเป็นส่วนใหญ่

พระนามบัตร ในหลวงร.9 – 02

พระนามบัตรที่คุณฮิโรมิ อินาโยชิ ออกแบบนั้น มีทั้งหมด 4 แบบด้วยกัน ดังนี้

แบบที่ 1 ได้แรงบันดาลใจมาจากตัว A ซึ่งเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดชนั่นเอง และจุดสีที่อยู่ภายในทั้งหมด แทนสีของแก้วนพรัตน์ หรืออัญมณี 9 ประการ สัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์

แบบที่ 2 ได้แรงบันดาลใจมาจากการพนมมือไหว้ เอกลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน ซึ่งจุดที่ปรากฎอยู่ในสัญลักษณ์แบบที่ 2 นี้ ก็แทนสีของแก้วนพรัตน์ ที่สื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์ไทยเช่นเดียวกัน

แบบที่ 3 ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องดนตรีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงโปรด ซึ่งก็คือ แซกโซโฟน นั่นเอง ส่วนจุดสีภายในก็มีความหมายเช่นเดียวกับ 2 แบบก่อนหน้า

แบบที่ 4 ได้แรงบันดาลใจมาจากพระนาม “ภูมิพล” ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเมื่อเขียนเป็นภาษาอังกฤษจะขึ้นต้นด้วยตัว B และนำตัว B นี้มาดัดแปลง ออกแบบเป็นปีกพญาครุฑ ภายในมีจุดสีของแก้วนพรัตน์เช่นเดิม

พระนามบัตร ในหลวงร.9 – 03

คุณฮิโรมิ อินาโยชิ กล่าวว่า การออกแบบพระนามบัตรในครั้งนี้ ไม่เหมือนกับการวาดภาพทั่วไป ที่มองภาพจริงเป็นตัวอย่าง และวาดออกมาให้เหมือนกับของจริงเท่านั้น แต่จะใช้จินตนาการ ถ่ายทอดสัญลักษณ์ออกมาให้สามารถสื่อความหมายแทนตัวบุคคลให้ได้มากที่สุด

และนอกจากขั้นตอนการออกแบบแล้ว ในเรื่องของการพิมพ์ก็มีส่วนสำคัญเช่นกัน เพราะทุกขั้นตอนล้วนต้องได้รับการใส่ใจอย่างพิถีพิถัน ระบบการพิมพ์จะต้องแปลกใหม่ ลอกเลียนแบบไม่ได้ง่ายๆ พระนามบัตรที่ออกมาจะต้องดูมีเสน่ห์ สะกดให้คนที่เห็นเกิดความสนใจ ในด้านของการเลือกกระดาษ ก็จะต้องเลือกใช้กระดาษของฝรั่งเศส เครื่องพิมพ์ก็จะต้องใช้เครื่องพิมพ์ของโรแลนด์และไฮเดลเบิร์ก ขั้นตอนต่างๆ ในการพิมพ์ก็จำเป็นจะต้องเอาใจใส่อย่างพิถีพิถัน ซึ่งทุกขั้นตอนจะมีการกำหนดรายละเอียดไว้เป็นอย่างดี โดยคุณฮิโรมิ จะเป็นผู้เข้าไปควบคุมการพิมพ์งานด้วยตัวเอง และกว่าจะได้ผลงานออกมาอย่างที่ตั้งใจ คุณฮิโรมิยังกล่าวอีกว่า ต้องทำการพิมพ์ทดสอบมากถึง 12 ครั้งด้วยกัน

พระนามบัตร ในหลวงร.9 – 04

การออกแบบพระนามบัตรชิ้นนี้ ไม่ใช่การออกแบบที่เป็นทางการมากนัก เนื่องจากเป็นการใช้ส่วนพระองค์เท่านั้น หากเป็นการใช้ในรูปแบบที่เป็นทางการ ก็จะมีตราประจำรัชกาล หรือตราสัญลักษณ์ในวโรกาสต่างๆ ไว้ใช้อยู่แล้ว คุณฮิโรมิ กล่าวเสริม

จะเห็นได้ว่า การจะออกแบบนามบัตรให้ดูดี มีความพิเศษ มีลูกเล่นแปลกตา รวมทั้งดูมีเสน่ห์ในตัวเองนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จะต้องอาศัยทั้งความสามารถและประสบการณ์ของผู้ออกแบบ เพื่อให้ได้ผลงานที่โดดเด่น แฝงไปด้วยพลังของสัญลักษณ์และอำนาจของสี ที่พร้อมจะสะกดทุกสายตาให้จ้องมอง

พระนามบัตร ในหลวงร.9 – 05

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก hiromi-inayoshi-brand, http://www.thethaiprinter.com